arrow_back หน้าหลัก

“มีเรื่องทุกข์ใจ ไม่รู้จะคุยกับใครดี”

ประเภท: ทั่วไป เมื่อ 18 มกราคม 2565

“Therapist จิตอาสา” เป็นโครงการของชมรมจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรมแห่งประเทศไทย (CBT Alliance of Thailand หรือ CAT) ร่วมกับหลักสูตรปริญญาบัณฑิตสาขาสุขภาพจิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ (Chula CBT) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการบำบัดจิตใจด้วยจิตบำบัดแบบ CBT สำหรับประชาชนทั่วไป
.
CBT (cognitive behavioral therapy) คือจิตบำบัด (psychotherapy) ที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับมากมายว่ามีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรคซึมเศร้า วิตกกังวล หรือปัญหาทางสุขภาพจิตอื่นๆ อีกหลากหลาย
.
ปัญหาของประเทศไทยคือการเข้าถึง CBT ยังต่ำมาก คือแม้จะรู้ว่าการรักษานี้ดีแต่ไม่รู้จะไปเข้ารับการบำบัดได้ที่ไหน รวมทั้งการบำบัดที่มีลักษณะต่อเนื่องคือใช้เวลาครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมงติดต่อกันทุกสัปดาห์ 12 ครั้ง ทำให้นักบำบัดที่มีอยู่ไม่สามารถบริการได้อย่างทั่วถึง
.
Chula CBT เริ่มรับนิสิตครั้งแรกตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันผลิตนักบำบัดแบบ CBT ให้กับสังคมไทยมาแล้ว 7 รุ่นเป็นจำนวน 94 คน โดยนิสิตฝึกปฏิบัติการทำจิตบำบัดแบบ CBT ภายใต้การดูแลให้คำปรึกษาของอาจารย์ (clinical supervision) และเมื่อจบการศึกษาแล้ว หลายคนก็ยังอยากทำงานจิตบำบัดในลักษณะจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือสังคมต่อไป จึงเป็นที่มาของโครงการ “Therapist จิตอาสา”
.
โครงการ “Therapist จิตอาสา” เปิดรับสมัครประชาชนทั่วไปที่ต้องการทำจิตบำบัดแบบ CBT ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตึกภปร.ชั้น 12 หรือแบบออนไลน์ (ในช่วงโควิดนี้มีเฉพาะออนไลน์)
.
นักบำบัดหรือ therapist ในโครงการ คือนิสิตปัจจุบันและศิษย์เก่าของหลักสูตร Chula CBT ที่มีความยินดีอยากมาทำงานบำบัดในลักษณะจิตอาสา นักบำบัดจะได้รับ supervision จากอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน CBT อย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษามาตรฐานในการบำบัด
.
ผู้เข้าร่วมโครงการนี้ไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับชมรมฯ หรือนักบำบัด แต่ถ้ามารับบริการที่โรงพยาบาลก็จ่ายเฉพาะค่าบริการทั่วไปให้กับโรงพยาบาลครั้งละ 100-150 บาทเท่านั้น ส่วนการบริการออนไลน์นั้นไม่มีค่าใช้จ่าย
.
สนับสนุนโครงการ
โครงการนี้ดำเนินการด้วยกองทุนของชมรมจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรมแห่งประเทศไทย (CBT Alliance of Thailand) ท่านสามารถสนับสนุนโครงการได้ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชี
.
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลบาลจุฬาลงกรณ์
เลขที่บัญชี 406-705278-3
ชื่อบัญชี “นายณัทธร พิทยรัตน์เสถียร/น.ส.ศิริรัตน์ อุฬารตินนท์/นายธันวรุจน์ บูรณสุขสกุล”
.
ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของโครงการที่ผ่านมาคือการลงทะเบียน online workshop CBT ในต่างประเทศให้กับนักบำบัด เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะของนักบำบัด
โรคหรือปัญหาที่เหมาะกับการเข้ารับการบำบัดด้วย CBT
- ปัญหาทางอารมณ์ต่างๆ เช่น เครียด วิตกกังวล ท้อแท้ ไม่มีความสุขในชีวิต หงุดหงิดง่าย ฯลฯ
- โรคซึมเศร้า
- โรควิตกกังวลแบบต่างๆ เช่น วิตกกังวลแบบทั่วไป (GAD) โรคแพนิค (panic) โรคกลัวสังคม (social anxiety) โรค PTSD โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ฯลฯ
.
โรคหรืออาการที่คลินิคยังไม่มีความชำนาญจะให้การบำบัดด้วย CBT
- ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและมีความเสี่ยงสูง
- โรคจิตเภท (schizophrenia) หรือกลุ่มอาการทางจิตแบบ psychotic เช่นหูแว่ว เห็นภาพหลอน มีความคิดหลงผิด (delusions)
- โรคไบโพลาร์ที่ยังควบคุมอาการด้วยยาได้ไม่คงที่
- ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการสมองเสื่อม (dementia)
- ปัญหาครอบครัว
- ปัญหาการเลี้ยงดูเด็ก
- ผู้ที่ต้องการมาปรึกษาปัญหาของคนอื่น (การบำบัดนี้มีจุดประสงค์เพื่อจัดการกับปัญหาของผู้มารับการบำบัดเอง)
- ฯลฯ
.
การรักษาเดิมที่มีอยู่
ถ้าท่านได้รับการรักษาทางจิตเวชอยู่ก่อนหน้านั้น การบำบัดด้วย CBT อาจเป็น "ตัวเสริม" ให้อาการดีขึ้นได้ แต่ไม่ได้เป็น "ตัวทดแทน" การรักษาเดิมที่ท่านได้รับอยู่ จึงควรไปติดตามการรักษา (follow-up) กับจิตแพทย์หรือสถานพยาบาลที่ดูแลท่านอยู่ด้วย ถ้าท่านรับประทานยาจิตเวชอยู่ก็ไม่ควรหยุดยาโดยพลการ
.
ผู้สนใจเข้ารับการบำบัดสามารถกรอกข้อมูลได้ตามลิงค์นี้
https://docs.google.com/.../1FAIpQLScVyTMLZhuLf7.../viewform
.
เมื่อได้รับใบสมัครทาง Case Manager ของโครงการจะติดต่อท่านไปตามลำดับคิวว่า 1) สามารถให้การดูแลท่านได้หรือไม่ 2) แจ้งวันเวลานัดหมายต่อไป